Long COVID MIS-A และ MIS-C 3 ภาวะที่เกิดขึ้นได้ หลังหายจากโควิด 19
โรคโควิด 19 เป็นปัญหาทางสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจที่สําคัญทั่วโลก ยังคงมีการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั่วโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน การติดเชื้อโควิด 19 ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลังจากหายจากโรคโควิด 19 ที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) ภาวะมิสเอ (MIS-A) และภาวะมิสซี (MIS-C)
- อาการเหนื่อยเพลียกว่าปกติ
- อาการทางเดินหายใจ (คัดจมูก ไอ หรือหอบเวลาออกแรง)
- อาการทางสมองและระบบประสาท (ขาดสมาธิและคิดช้า)
อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสตามปกติ ภาวะผื่นเป็นๆหายๆ ปวดศีรษะ เสียงแหบ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด 19 แบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงมีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิดได้ทั้งสิ้น มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะลองโควิดอย่างรุนแรง ได้แก่ กลุ่มที่มีโควิดลงปอดมากกว่าร้อยละ 50 กลุ่มที่ต้องใช้ออกซิเจนเป็นเวลานาน ภาวะอ้วน หรือมีโรคประจําตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี
โดยมีหลายทฤษฎีที่อธิบายการเกิดภาวะลองโควิดนี้2 เช่น ภาวะอักเสบและการสันดาป ทําให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงจนทําให้ไม่สามารถกําจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ ไวรัสที่อยู่ในร่างกายรวมทั้งแอนติเจนจะยังทําให้เกิดภาวะการอักเสบต่อเนื่องเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ หลายการศึกษาพบว่า มีสายพันธุ์ของไวรัสค้างอยู่ในระบบประสาทและทําลายเส้นประสาทอย่างต่อเนื่อง หรือการอักเสบทําให้กลไกที่ป้องกันสมองทํางานแย่ลง บางทฤษฎีกล่าวถึงภาวะเครียดหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder) ทําให้รู้สึกเหนื่อยเพลียกว่าปกติ รวมทั้งมีทฤษฎีที่กล่าวถึงภาวะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทําให้เกิดการอักเสบมากผิดปกติ เช่น เอชแอลเอ (HLA; human leukocyte antigen) เป็นต้น
ภาวะมิสเอ (MIS-A) ย่อมาจาก Multisystem inflammatory syndrome in adults3 คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบในผู้ใหญ่หลังจากการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งมักเกิดจากการทํางานที่มากเกินไปของไซโตไคน์ (cytokine storm) ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 อย่างรุนแรง จนทําให้เกิดอาการอักเสบในหลายอวัยวะ ก่อให้เส้นเลือดมีการซึมซับได้มากกว่าปกติ มีภาวะเออาร์ดีเอส (ARDS; acute respiratory distress syndrome) และเพิ่มภาวะเลือดอุดตันได้ โดยอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการควบคุมระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น ทําให้เกิดความผิดปกติหลายอวัยวะ โดยพบมากในหัวใจ ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ระบบประสาท และมักได้รับการรักษาโดยใช้ยาลดการอักเสบ หรือยากดภูมิยังมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อทําความเข้าใจการเกิด การดําเนินโรค และวิธีการรักษาที่ได้ผลในภาวะนี้4
ภาวะมิสซี (MIS-C) ย่อมาจาก Multisystem inflammatory syndrome in children5 คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบในเด็กหลังจากการติดเชื้อโควิด 19 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยเกิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโควิด 196 โดยมักเกิดกลไกคล้ายคลึงกับภาวะมิสเอ โดยมักมีอาการไข้สูง ผื่นปากหรือลิ้นแดง ตาแดง มือเท้าบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนและถ่ายเหลว บางรายมักมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ มักพบในเด็กที่โต มีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก การรักษาเป็นการดูแล อาการตามระบบ ลดการอักเสบ และการป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
โดยสรุป โรคโควิด 19 ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่เชื้อยังมีความสําคัญ7 เพื่อที่จะลดการติดเชื้อและภาวะที่เกิดขึ้น หลังจากเป็นโรคโควิด 19 ทั้งภาวะลองโควิด ภาวะมิสเอ และภาวะมิสซี บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้แก่ผู้ติดเชื้อถึงโอกาสที่อาจเกิดภาวะนี้ รวมทั้งผู้ปกครองควรสังเกตอาการเด็กที่หายจากโควิด 19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่่วง 2-3 เดือนแรก
Q: การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 สามารถลดความรุนแรงของการเกิดภาวะ ลองโควิด มิสเอ และมิสซีได้หรือไม่ ในแง่มุมใด
A: การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทําให้ลดการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อมักมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงทําให้ลดอัตราการเกิดภาวะลองโควิด ในส่วนของมิสเอและมิสซีมีเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า อาจทําให้เกิดน้อยลงหากได้รับวัคซีน แต่หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้แน่ชัด จึงต้องติดตามต่อไป
แหล่งที่มา
- Moreno-Perez O, Merino E, Leon-Ramirez JM, Andres M, Ramos JM, Arenas-Jimenez J, et al. Post-acute COVID-19 syndrome. Incidence and risk factors: A Mediterranean cohort study. J Infect.2021;82(3):378-83.
- Akbarialiabad H, Taghrir MH, Abdollahi A, Ghahramani N, Kumar M, Paydar S, et al. Long COVID, a comprehensive systematic scoping review. Infection. 2021;49(6):1163-86.
- Parums DV. Editorial: Multisystem Inflammatory Syndrome in Adults (MIS-A) and the Spectrum of COVID-19. Med Sci Monit. 2021;27:e935005.
- Vogel TP, Top KA, Karatzios C, Hilmers DC, Tapia LI, Moceri P, et al. Multisystem inflammatory syndrome in children and adults (MIS-C/A): Case definition & guidelines for data collection, analysis, and presentation of immunization safety data. Vaccine. 2021;39(22):3037-49.
- Henderson LA, Canna SW, Friedman KG, Gorelik M, Lapidus SK, Bassiri H, et al. American College of Rheumatology Clinical Guidance for Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated With SARS-CoV-2 and Hyperinflammation in Pediatric COVID-19: Version 2. Arthritis Rheumatol. 2021;73(4):e13-e29.
- Kabeerdoss J, Pilania RK, Karkhele R, Kumar TS, Danda D, Singh S. Severe COVID-19, multisystem inflammatory syndrome in children, and Kawasaki disease: immunological mechanisms, clinical manifestations and management. Rheumatol Int. 2021;41(1):19-32.
- Maude RR, Jongdeepaisal M, Skuntaniyom S, Muntajit T, Blacksell SD, Khuenpetch W, et al. Improving knowledge, attitudes and practice to prevent COVID-19 transmission in healthcare workers and the public in Thailand. BMC Public Health. 2021;21(1):749.
ควรศึกษาข้อควรระวัง อาการไม่พึงประสงค์ ข้อกําหนดในการรับวัคซีน เพื่อการได้รับวัคซีนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
บทความที่เกี่ยวข้อง
เพราะเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงอยู่ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญ
กี่เข็มไม่สำคัญเท่านานเกิน 1 ปีจากเข็มสุดท้าย เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนค่อย ๆ ลดลง จึงควรฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ
ไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหลังป่วยโควิด-19 ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อซ้ำ